วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2552

ฟื้นชีพ ไปรสนียาคาร แห่งความทรงจำ ย้อนวันวาน อนุสรณ์สถานแห่งกาลเวลา


ไปรษณีย์ไทยพลิกย้อนหน้าประวัติศาสตร์การไปรษณีย์แห่งสยามประเทศ ตั้งแต่แรกเริ่มกิจการเมื่อ พ.ศ.2426 อวดโฉมอนุสรณ์สถานแห่งกาลเวลา “ไปรสนียาคาร” เชิงสะพานพระปกเกล้าฯ ฝั่งพระนคร จัดแสดงนิทรรศการเล่าเรื่องเส้นทางไปรษณีย์ที่อยู่คู่สังคมไทยตลอด 125 ปี พร้อมแสดงแสตมป์และสิ่งสะสมล้ำค่า เปิดให้เข้าชมย้อนรำลึกครั้งแรก 13-18 มกราคมนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารจำลอง “ไปรสนียาคาร” อนุสรณ์สถานแห่งกาลเวลา ณ บริเวณเชิงสะพานพระปกเกล้า เขตพระนคร โดยมี นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร้อยตรีหญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมในพิธีฯ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวในพิธีเปิดว่า “ไปรสนียาคาร” ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของกิจการไปรษณีย์แห่งสยาม เพราะถือเป็นที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของไทย สร้างเมื่อ พ.ศ.2426 ในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้พระราชทานกำเนิดกิจการไปรษณีย์ แก่คนไทย โดยหนึ่งในความสำเร็จของพระราชภารกิจน้อยใหญ่ มีพระราชอนุชาร่วมพระชนกพระชนนีเดียวกับพระองค์ คือ จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หรือ สมเด็จวังบูรพา ผู้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนากิจการโทรเลข โทรศัพท์และไปรษณีย์ และการจัดการกองทัพสยามในรูปแบบใหม่ ในวาระครบรอบ 150 ปี จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาฯ ผู้เป็น “เสาหลัก” ของแผ่นดินที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะงานด้านการไปรษณีย์ไทย จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ แต่งตั้งเป็น “อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขพระองค์แรก” และได้รับพระสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งการไปรษณีย์ไทย” และเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ ตลอดจนอนุรักษ์สถานที่ปฏิบัติงานในการให้บริการชาวสยามในอดีตที่มีความงดงามล้ำค่า จึงมีการริเริ่มที่จะฟื้นคืนไปรสนียาคารขึ้นมาอีกครั้ง ในบริเวณเดิมเมื่อแรกก่อสร้าง ซึ่งนอกจากจะเป็นอนุสรณ์สถานแล้วยังเป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งความรู้เกี่ยวกับไปรษณีย์ที่มีความสมบูรณ์อีกด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากกรมทางหลวงชนบทและ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ไปรสนียาคาร ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2426 ตั้งอยู่ปากคลองโอ่งอ่างริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งพระนคร ซึ่งเป็นบริเวณบ้านเดิมของพระปรีชากลการ (สำอางค์ อมาตยกุล) หลังจากนั้นใน พ.ศ.2496 ไปรสนียาคารได้ปรับปรุงเป็นอาคารเรียน “โรงเรียนกรมไปรษณีย์และโทรเลข” เพื่อเป็นสถานที่ผลิตพนักงานไปรษณีย์ให้บริการประชาชน ก่อนจะถูกทุบทิ้งเพื่อเปิดทางสร้างสะพานพระปกเกล้าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขนานกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งถึงแม้ “ไปรสนียาคาร”จะรื้อถอนไป แต่ก็ยังเป็นสัญลักษณ์ที่คนไทยมักนึกถึงเมื่อพูดถึงเกี่ยวกับกิจการไปรษณีย์เสมอมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น