วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2552

ทีโอทีเลือกทีทีแอนด์ทีทำแผนฟื้นฟูกิจการ


นายวรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที
ทีโอทีในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่สนับสนุนทีทีแอนด์ที ให้เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการตนเอง “วรุธ” แจง 3 เหตุผล ทีโอทีเลือกทีทีแอนด์ทีเพราะ 1.ทีโอที มีโอกาสได้รับประโยชน์หรือได้รับหนี้คืนสูงสุด 2.ทีทีแอนด์ที ไม่ได้คัดค้าน มูลหนี้ของ ทีโอที และ 3.ทีโอทีกับทีทีแอนด์ที เป็นบริษัทร่วมการงานในธุรกิจโทรคมนาคม จะเป็นประโยชน์ ต่อทีโอที ในการรับรู้ขั้นตอนแนวทางการจัดทำแผนฟื้นฟู ในฐานะเจ้าหนี้ และบริษัทร่วมการงาน ด้านสหภาพฯ ทีโอทีไม่เห็นด้วยออกแถลงการณ์ค้านอวดภูมิรู้เหนือชาวบ้านทั้งๆที่ยังจัดแจง ปัญหาความโปร่งใสภายในเรื่องเปอร์เซ็นต์ประกันรถยนต์และประกันสุขภาพของ สมาชิกไม่ได้


แหล่งข่าวในทีโอทีกล่าวว่าตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางกำหนดให้บริษัท ทีทีแอนด์ที จะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ทำให้ ทีโอที ในฐานะเจ้าหนี้ของ ทีทีแอนด์ที มีสิทธิในการออกเสียงเลือกผู้จัดทำแผน เพราะ ทีโอที เป็นเจ้าหนี้ทีทีแอนด์ทีเป็นเงินถึง 29,995 ล้านบาท (ตามใบแจ้งหนี้ ที่ ทีทีแอนด์ที ยอมรับ)

เจ้า พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ได้เรียกประชุมเจ้าหนี้ทีทีแอนด์ที เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2552 เพื่อเลือกผู้ทำแผนปรากฏว่าทีทีแอนด์ที ลูกหนี้ได้เสนอตัวเป็นผู้ทำแผนเอง โดยทีทีแอนด์ทีได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้จำนวน 22 ราย รวมทั้งทีโอที เจ้าหนี้รายใหญ่ด้วยคิดเป็นจำนวนหนี้ 24,027 ล้านบาทหรือเป็น 54.73% ของหนี้ทั้งหมด

ส่วน บริษัท พี แพลนเนอร์ บริษัทผู้รับจัดทำแผนอีกราย ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ 23 รายส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้จากบริษัทต่างประเทศ คิดเป็นจำนวนหนี้เพียง 19,872 ล้านบาท หรือคิดเป็น 45.27% ของหนี้ทั้งหมด

ทั้ง นี้ ผลการประชุมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวข้างต้นต้องรายงานผลการลงมติ ของที่ประชุมเจ้าหนี้ เพื่อให้ศาลล้มละลายกลาง พิจารณา และมีคำสั่งแต่งตั้ง ทีทีแอนด์ที เป็นผู้ทำแผนหากศาลเห็นชอบจะได้แจ้งกำหนด นัดพิจารณาให้เจ้าหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราว ทีทีแอนด์ที และผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ทำแผนได้ทราบต่อไป

การประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทำแผน มีผู้เสนอผู้ทำแผน 2 รายคือ บริษัท แอฟวะนิว เอเชีย อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (เจ้าหนี้) เสนอ บริษัท พี แพลนเนอร์จำกัด เป็นผู้ทำแผน โดยบริษัท พี แพลนเนอร์ คิดค่าตอบแทน และค่าที่ปรึกษา เป็นเงิน 2 – 5 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้คือตัวทีทีแอนด์ทีได้เสนอตนเองเป็นผู้ทำแผนโดยไม่คิดค่าตอบแทน และไม่มีค่าที่ปรึกษา

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ได้มีการเรียกประชุมเจ้าหนี้ของ ทีทีแอนด์ทีหลายครั้ง คือวันที่ 22 , 26 , 29 และ วันที่ 30 ธ.ค. 2551 แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้เนี่องจากเจ้าหนี้ของทีทีแอนด์ที มีถึง 54 ราย ไม่สามารถนับคะแนนเสียงได้ เนื่องจากเจ้าหนี้จากต่างประเทศกว่า 10 บริษัท คัดค้านการออกเสียงลงคะแนนออกเสียงของทีโอที

แต่ ในที่สุด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้พิเคราะห์และพยานหลักฐานต่างๆ โดยละเอียดแล้ว ได้ยอมรับจำนวนหนี้ที่ทีทีแอนด์ทีเป็นหนี้ ทีโอทีจำนวนทั้งสิ้น 21,935 ล้านบาทจำนวนหนี้ดังกล่าวมีผลให้ทีโอทีมีสิทธิออกเสียงในการคัดเลือกผู้จัด ทำแผนครั้งนี้ด้วย

นายวรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที กล่าวว่า ผลการประชุมของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นที่พอใจของทีโอที เพราะสอดคล้องกับการความต้องการของผู้บริหารระดับสูง ที่ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2551 โดยในการประชุมผู้บริหารระดับสูง ของ ทีโอที ได้พิจารณาถึงทางเลือก และข้อดี ข้อเสียเปรียบเทียบ ทั้ง 2 บริษัทที่จะเป็นผู้ทำแผน สรุปความเห็นดังนี้

1.ทีโอที จำเป็นต้องพิจาณาเลือกผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการที่ ทีโอที มีโอกาสได้รับประโยชน์หรือ ได้รับหนี้คืนสูงสุด กล่าวคือ เลือกผู้ที่ไม่คัดค้านหรือยอมรับหนี้ที่ ทีโอทีเรียกร้องทั้งหมด 2. ทีทีแอนด์ที ไม่ได้คัดค้าน มูลหนี้ของ ทีโอที แต่อย่างใด และ3.ทีโอที และ ทีทีแอนด์ที เป็นบริษัทร่วมการงานในธุรกิจโทรคมนาคมจะเป็นประโยชน์ต่อทีโอทีในการรับรู้ ขั้นตอนแนวทางการจัดทำแผนฟื้นฟูในฐานะเจ้าหนี้ และบริษัทร่วมการงาน

แหล่ง ข่าวกล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบอร์ด ทีโอที เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2551 ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ ประธานกรรมการบอร์ดทีโอที และนาย ระเฑียร ศรีมงคล กรรมการบอร์ด ได้ให้ข้อเสนอแนะฝ่ายบริหารทีโอที ให้ไปประสานงานในการจัดทำแผนเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของทีโอทีและหากทีที แอนด์ทีไม่คัดค้านมูลค่าหนี้ก็ให้ทีทีแอนด์ทีเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยคณะกรรมการบอร์ดได้มีมติเห็นชอบให้ฝ่ายบริหารทีโอทีแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อเจรจากับทีทีแอนด์ที ในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการร่วมกันโดยให้กรรมการทีโอที นายระเฑียร ศรีมงคล เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน

ขณะเดียวกัน สหภาพฯทีโอที (สรท.) ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการทำแผนฟื้นฟูกิจการของทีทีแอนด์ที โดยสหภาพฯทำตัวเป็นผู้รู้ดีไม่เห็นด้วย กับการตัดสินใจของ ทีโอที และตั้งข้อสงสัยว่าทำไม กรรมการผู้จัดการใหญ่จึงเลือกทีทีแอนด์ทีเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพราะทีโอทีจะเสียประโยชน์เนื่องจากทีโอทีมีคดีแพ่งและอาญา หลายจังหวัดกับทีทีแอนด์ทีแล้วทำไมยังเลือกทีทีแอนด์ทีอีกเชื่อมั่นได้อย่าง ไรว่า วิธีการนี้ดีที่สุดกับทีโอที

แหล่ง ข่าวจากสหภาพฯทีโอทีแจ้งว่า หลังจากมีการปลดนายอนันต์ ศรีม่วง จากเลขานุการสหภาพฯทีโอทีแล้ว การออกแถลงการณ์ต่าง ๆ มีกรรมการรู้เห็นเพียง 2 – 3 คนเท่านั้นและจะยุ่งไปทุกเรื่อง ไม่ได้ดูตัวเองและไม่มองภาพกว้าง เพราะหากเลือกเอา บริษัท พี แพลนเนอร์ แล้ว เท่ากับทีโอทียอมรับให้เจ้าหนี้ต่างประเทศมีส่วนแบ่งในหนี้ของทีทีแอนด์ที จะทำให้ทีโอทีได้รับชำระหนี้ลดลง เพราะต้องแบ่งการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ต่างประเทศด้วย

การบริหารงาน ศูนย์เลี้ยงเด็ก สหภาพฯทีโอที ที่เงินขาดหายไป กว่า 4 ล้านบาท ยังไม่สามารถตรวจสอบ และทำบัญชี ชี้แจงสมาชิก ในวันประชุมใหญ่ เมื่อ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมาได้ แล้วอย่างนี้จะเอาภูมิปัญญาอะไรไปตั้งข้อกล่าวหาคนอื่นๆ ขอให้ตรวจสอบพวกตนเอง ให้ขาวสะอาดก่อน เช่น เรื่อง เปอร์เซ็นต์ประกันรถยนต์และ ประกันสุขภาพของสมาชิก กำลังจะถูกเปิดโปงเหมือนกรณีศูนย์เลี้ยงเด็ก’

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น