วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

มข.ต่อยอดซุปเปอร์พริก"ยอดสนเข็ม 80" ป้อนเอกชนเล็งทำยา

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อยอดผลวิจัยพริก “ยอดสนเข็ม 80” ที่มีความเผ็ดสูงกว่าพริกทั่วไป 1 เท่าตัว ส่งออกตลาดเชิงพาณิชย์ให้สิทธิ์เอกชน ร่วมผลิตเวชภัณฑ์ยายาแก้ปวดเมื่อยจนถึงยาแก้อักเสบ

รศ.สุชีลา เตชะวงศ์เสถียร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยการพัฒนาพันธุ์พริกเผ็ด เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้วิจัยและพัฒนาพริกพันธุ์ต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2529 พร้อมกับได้ปรับปรุงสายพันธุ์พริกยอดสน จนได้สายพันธุ์ที่มีคุณภาพความเผ็ดสูง พร้อมทั้งยื่นจดสิทธิบัตรและขึ้นทะเบียนเป็นพืชพันธุ์ใหม่เมื่อปลายปี 2551 ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อพริกพันธุ์ "ยอดสนเข็ม 80"

“ถือ ว่าเป็นความสำเร็จของนักวิจัย เพราะผลงานวิจัยพริก “ยอดสนเข็ม 80” สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม จากการที่บริษัทส่งเสริมให้ปลูกในรูปแบบคอนแทรกฟาร์มมิ่ง และเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ โดยบริษัทเอกชนจะนำพริกไปสัด และผลิตเป็นยาเวชภัณฑ์ อาทิ ยาบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ยานวด บาล์มและยาแก้อักเสบ”

รศ.สุชีลา กล่าวต่อว่า ปัญหาการต่อยอดพันธุ์พริกยอดสนเข็ม 80 " เมื่อซื้อพริกจากชาวบ้านไปแล้ว ความเผ็ดของพริกไม่คงที่ บางรุ่นเผ็ดมาก บางรุ่นเผ็ดน้อย โดยอาจเกิดจากการดูแลที่ไม่สม่ำเสมอของเกษตรกร อีกทั้งในช่วงที่บริษัทฯ มีความต้องการพริกมา แต่กลับมีผลผลิตไม่เพียงพอ เพราะเกษตรกรจะไม่ค่อยใส่ใจดูแลมากนัก ทำให้ผลผลิต (พริกสด) ต่อไร่ต่ำ เฉลี่ยเพียง 200-300 กก.เท่านั้น ขณะที่พริกพันธุ์ยอดสนเข็ม 80 มีความเผ็ดมากและคงที่ คือ ไม่ต่ำกว่า 100,000 หน่วย และให้ผลผลิตถึง 3,000 กก./ไร่ ทำให้บริษัทฯ มีความสนใจที่จะนำพันธุ์พริกของ ม.ขอนแก่น ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป"

ด้าน สุวิทย์ งามภูพันธ์ ผู้บริหารของ บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธินำพริกพันธุ์ยอดสนเข็ม 80 ไปใช้ในการผลิตทางด้านเวชภัณฑ์ของบริษัท ซึ่งปัจจุบันได้สกัดเอาสารแคปไซซิน นำมาผลิตเป็นเจลพริก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ดังกล่าวใช้ในโรงพยาบาลแพทย์ทั่วประเทศ และร้านขายยาทั่วไป ส่วนในต่างประเทศจำหน่ายที่ ประเทศพม่า และ สปป.ลาว

" สำหรับพริกพันธุ์ยอดสนเข็ม 80 นี้ แตกต่างไปจากพริกพันธุ์ยอดสนทั่วไป โดยมีสารแคปไซซินสูงกว่ามาก และให้ผลผลิตต่อไร่ถึง 1 เท่าตัว เบื้องต้นบริษัทจะนำพันธุ์พริกไปทดลองปลูก 10 ไร่ โดยมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี และต่อไปจะทำการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในรูปแบบคอนแทรกฟาร์มมิ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้ทางบริษัทได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงาน และประกันราคารับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดถึง 20%"

ใน อนาคตบริษัทมีโครงการที่จะพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ ยาคลายกล้ามเนื้อแบบอโรมา ยารักษารากฟัน โดยผลผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นนั้นจะเน้นการรักษาได้ผลจริง ไม่ใช่ผลิตสินค้าที่เป็นประเภทแฟชั่นออกมา นอกจากนี้บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายตลาดต่างประเทศ โดยภายใน 2-3 ปีนี้เตรียมบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น อาทิ ยุโรป และญี่ปุ่น” ผู้บริหารของ บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น