วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

8 เคล็ดลับดีๆ ใช้เทคโนโลยีให้ได้งาน (ไทยรัฐ)

ดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางวังวนของเศรษฐกิจตกสะเก็ด ที่ยังไม่มีวี่แววว่าสัญญาณแห่งการฟื้นตัวจะปรากฏขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ หลายคนกำลังตกอยู่ในภาวะว่างงานเพราะถูกออก บัณฑิตใหม่วิ่งวุ่นหาโอกาสและตำแหน่งงานใหม่ๆ ขณะที่บริษัท ห้างร้านต้องปรับลดค่าใช้จ่าย ยุติการขยายงานหรือเพิ่มการลงทุน
ในห้วงเวลาที่ทุกแห่งหนบนโลกกลมๆใบนี้ กำลังตกอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง กลืนไม่เข้าคายไม่ออกกันถ้วนหน้า “ทีมข่าวไทยรัฐไซเบอร์เน็ต” ขอหยิบยก เคล็ดลับควรกระทำ 8 ประการ ในการใช้เทคโนโลยีช่วยหางาน ที่สำนักข่าวเอพีเผยแพร่ มาถ่ายทอดให้แฟนผู้อ่าน ได้ติดตามกัน
1. อย่าอีเมล์สมัครงานไปทั่ว
แทนการหว่านอีเมล์ เลือกที่คิดว่าเหมาะสมกับคุณที่สุด ในกรณีนี้ควรใช้ เว็บในการศึกษาประวัติ ความเป็นมาของงานและบริษัทที่คุณพุ่งเป้าไปหา อย่าลืมว่ามีผู้สมัครแค่ 6% เท่านั้น ที่ได้งานผ่านการโฆษณาจัดหางาน การรู้เป็นการภายใน กรณีมีตำแหน่งงานใหม่ๆจะทำให้คุณมีโอกาสมากกว่าจะไปเที่ยวเสาะหางานที่ ประกาศลงโฆษณา เพราะคู่แข่งน้อยลงเยอะ
2. ใช้จดหมายใส่ซองปิดผนึก
ผู้เชี่ยวชาญและนายจ้าง (แน่นอนว่าเป็นในอเมริกา) ไม่นิยมเสาะหาพนักงานในดวงใจผ่านใบสมัครที่ส่งมาทางอีเมล์ เพราะที่นั่นอีเมล์สมัครงานแนบประวัติถูกส่งเข้ามามาก มายก่ายกอง เปิดอ่านออกบ้างไม่ออกบ้าง ฟอนต์เป็นตัวยึกยือเพราะระบบไม่ตอบรับกับไฟล์ แถมกลัวติดไวรัส ทางที่ดีส่งใบสมัครและประวัติทางจดหมาย ประดิษฐ์รูปลักษณ์ให้สวยงาม โดดเด่น อาจมีโดน
3. จั่วหัวเรื่องให้น่าสนใจ
หากจำเป็นต้อง ใช้อีเมล์ในการหางาน สร้างความแตกต่างให้น่าสนใจ เช่น จั่วหัวเรื่องอีเมล์ที่เกี่ยวกับสถาบันที่คุณจบการศึกษา ยิ่งหากใส่ชื่อคนที่คุณอ้างอิงถึงได้เข้าไปด้วยแบบย่นย่อ นายจ้างอาจปิ๊ง
4. ส่งจดหมายขอบคุณที่เหมาะสม
ถามผู้จัดการฝ่ายบุคคลว่าสะดวกส่งเป็นอีเมล์หรือไม่ เพื่อความรวดเร็ว ช่วงชิงความได้เปรียบ แต่อย่า ลืมส่งเป็นจดหมายปิดผนึกตามไปอีกรอบ คุณอาจตอบคำถามที่ระหว่างสัมภาษณ์ไม่สามารถ ตอบได้เพิ่มเติมไปด้วย และตอกย้ำว่ารอคอยการติดต่อกลับอย่างใจจดใจจ่อ
5. อย่าล้ำเส้น
ถึงแม้ว่าคุณจะสนิทชิดเชื้อ ถูกอัธยาศัยกับผู้จัดการฝ่ายบุคคล แต่อย่าได้ติดต่อผ่านมือถือส่วนตัวของเขาโดยเด็ดขาด เว้นเสียแต่ได้รับอนุญาต
6. ใช้โทรศัพท์พื้นฐาน
การใช้โทรศัพท์มือถือในการติดต่อสมัครงานมีข้อเสียมากกว่า ทั้งเรื่องสัญญาณ ความชัด แต่ถ้าจำเป็น เลือกสถานที่ที่เงียบ สงบ มีสัญญาณชัดเจน อย่าลืมเตรียมปากกา กระดาษ ไว้เตรียมจดข้อมูลในกรณีจำเป็น
7. ใช้เว็บเครือข่ายสังคมให้เป็น
เนื่องจากเว็บไซต์เครือข่ายสังคมกำลังเป็นที่ฮอตฮิต หากบังเอิญคุณไปเจอเจอะคนที่สัมภาษณ์งานบนนั้น อย่าเข้าไปชวนคุยสุ่มสี่สุมห้า อธิบายนิดหน่อยถึงสาเหตุที่คุณเข้าไปทัก แล้วเริ่มต้น สนทนาในลักษณะ “อ่านเจอว่าคุณมีประสบการณ์ ในต่างประเทศกว่า 10 ปี ผมก็เหมือนกัน”
8. ตรวจสอบประวัติออนไลน์ให้ดี
บางครั้งผู้ว่าจ้างอาจเข้าไปสืบประวัติในทางลึกผ่านเว็บไซต์เครือข่ายชุมชน ออนไลน์ จึงต้องระมัด ระวังการแสดงความคิดเห็น จุดยืนทางการเมือง ตลอดจนเรื่องส่วนตัวที่อยู่บนเฟซบุ๊ก ไฮไฟว์ อย่าเปิดเผยความเป็นส่วนตัวบนเว็บเหล่านี้มากนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น